“ภาษี” อาจเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่ายุ่งยาก โดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน อาจมีคำถามและข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของเราต้องจ่ายภาษีหรือไม่? จ่ายภาษีอย่างไร? แล้วเงินภาษีส่วนเกินที่จ่ายไปนั้นจะได้คืนหรือเปล่า?
บทความนี้จะมาช่วยคลายความสงสัยและตอบทุกคำถามเรื่องการจ่ายภาษีประจำปีให้ผู้ประกอบการที่ต้องการรู้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเข้าใจง่าย
ทำความรู้จักกับคำว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภง.ด. คือ เงินที่รัฐเรียกเก็บจากผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยปกติจะเรียกเก็บเป็นรายปี ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องแสดงเอกสารที่เราเรียกว่าแบบชำระภาษีเพื่อทำการจ่ายภาษีให้แก่รัฐในช่วงเวลาที่กำหนด คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคมของทุกปี
มือใหม่ยื่นภาษีครั้งแรก ทำอย่างไรให้ได้เงินคืน
ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าบุคคลใดก็ตามที่ “มีรายได้เกิน 50,000 บาท” ขึ้นไปต่อปี ต้องยื่นแบบชำระภาษีด้วย เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าตนเองมีรายได้เกินปีละ 50,000 บาท ก็ต้องเตรียมตัวยื่นแบบชำระภาษีได้เลยค่ะ แต่จะต้องจ่ายภาษีเท่าไรนั้นเรามาดูตารางด้านล่างนี้ประกอบไปพร้อมกันนะคะ
จากตารางจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 0-150,000 บาท เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับการยกเว้นภาษี นั่นคือถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อปีและต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากรายได้รวมของเราไม่เกิน 150,000 บาท เราก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเพราะได้รับการยกเว้นนั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น เอ เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานโดยมีฐานเงินเดือน 9,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี เอจะมีรายได้ทั้งหมด 9,000x12 = 108,000 บาท เมื่อถึงเวลาการยื่นภาษี เอต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากรายได้ต่อปีของเอไม่เกิน 150,000 บาท จึงไม่ต้องจ่ายภาษีในปีนั้น
หรืออีกกรณีหนึ่ง นายบี มีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี นายบีจะมีรายได้ทั้งหมด 18,000x12 = 216,000 บาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี 5% แต่ประเทศไทยของเราคิดภาษีแบบขั้นบันได เพราะฉะนั้นต้องนำเงินของนายบีมาหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกไปก่อน นั่นคือ 216,000-150,000 = 66,000 บาท เพราะฉะนั้นถึงจะมองเผินๆ เหมือนว่านายบีต้องจ่ายภาษี แต่จริงๆ แล้วเมื่อหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นออกไป รายได้รวมต่อปีของนายบีจะอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นนายบีก็ต้องยื่นแบบตามที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตามรัฐยังได้กำหนดตัวช่วยที่เรียกว่า “รายการลดหย่อนภาษี” เพื่อช่วยลดภาระในการจ่ายภาษีประจำปีสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นด้านต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย เราลองมาดูกันดีกว่าว่ารายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
รายการลดหย่อนภาษี ตัวช่วยสำหรับการยื่นภาษีให้ได้เงินคืน
- ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
- บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คนละ 30,000 บาท
- บิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) คนละ 30,000 บาท
- บิดามารดาของคู่สมรสที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายเข้ากองทุนไปในปีที่ชำระภาษี ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินลงทุนในกองทุน RMF และ LMF ได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับการใช้เบี้ยประกันลดหย่อนหรือเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ ลดหย่อนได้จริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินสมทบประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง
- เงินลดหย่อนอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก: กรมสรรพากร www.rd.go.th/
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นภาษี
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ
- เอกสารทางการเงินอื่นๆ เช่น บิลชำระเบี้ยประกันหรือดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ในการกรอกจำนวนเงินลดหย่อนภาษีและแนบไปเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากร
แนวทางการยื่นภาษีและการคำนวณรายการลดหย่อนภาษีในเบื้องต้นที่กล่าวมา ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เพียงเข้าใจอัตราภาษีแบบขั้นบันไดและรู้สิทธิการลดหย่อนภาษีของตัวเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้แบบง่ายๆ