
การตรวจสอบภายใน กลไกสำคัญที่จะมาช่วยจัดการบริหารองค์กรของคุณ
หากผู้บริหารต้องการทราบว่าบุคคลภายในองค์กรนั้นได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และนโยบายที่วางไว้อย่างจริงจังและสม่ำเสมอหรือไม่ คงต้องมีตัวช่วยในการตรวจสอบสักหน่อย เพราะหากจะให้ลงมาตรวจสอบตัวเองคงจะยุ่งยากมากพอสมควร ซึ่งตัวช่วยที่ว่านั่นก็คือ ‘ผู้ตรวจสอบภายใน’ แล้วการตรวจสอบภายในจะช่วยให้องค์กรของคุณเดินหน้าได้อย่างไร เราลองไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย
การตรวจสอบภายในเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรทำ
เพราะการตรวจสอบภายในเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารหรือฝ่ายบริหารได้รับรู้ว่า การปฏิบัติงานของพนักงานนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรหรือไม่อย่างไร หรือหากพบเจอข้อบกพร่องในระบบงาน ที่เป็นช่องทางให้เกิดการรั่วไหล มีผลให้การปฏิบัติงานล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ ก็จะได้นำข้อบกพร่องที่พบเจอไปปรับปรุงแก้ไขให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลดีต่อองค์กรนั่นเอง
6 ประเภทการตรวจสอบภายในที่ควรต้องตรวจสอบ
การตรวจสอบภายในใช่ว่าจะตรวจสอบเรื่องทั่วๆ ไป แต่ยังมีการตรวจสอบที่ลงลึกเพื่อให้ทราบถึงต้นตอของปัญหาและรู้ความเป็นมาของเรื่องราวต่างๆ ในองค์กรได้อย่างกระจ่าง ซึ่งการตรวจสอบจะมีทั้งหมดหลักๆ 6 เรื่องด้วยกัน
1.การตรวจสอบทางการเงิน
เป็นการตรวจสอบความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน การบัญชี และรายงานทางการเงิน
2.การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด
เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานต่างๆ ขององค์กรว่าเป็นไปตามนโยบายกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร
3.การตรวจสอบการดำเนินงาน
เป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หรือมาตรฐานที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีผลผลิตและผลลัพธ์เป็นไปตามที่วางแผนไว้
4.การตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เป็นการตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงระบบที่ใช้เก็บข้อมูล ประมวลข้อมูล ใช้ติดต่อสื่อสารภายในองค์กรว่ามีประสิทธิภาพที่ดีพอหรือไม่ หากไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง ให้ระบบมีความเสถียรและเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด
5.การตรวจสอบการบริหาร
เป็นการตรวจสอบการบริหารงานด้านต่าง ๆ ขององค์กร ว่ามีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการวางแผน การควบคุม ประเมินผล เกี่ยวกับการงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการบริหารงานด้านต่างๆ ว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจขององค์กรมากน้อยเพียงใด
6.การตรวจสอบพิเศษ
เป็นการตรวจสอบในกรณีพิเศษจากผู้บริหารหรือกรณีที่มีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งผู้ตรวจสอบภายในจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อค้นหาสาเหตุ ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกัน
5 ข้อหัวใจหลักที่คุณจะได้รับจากการตรวจสอบภายใน!
หลังจากทำการตรวจสอบภายในแล้ว สิ่งที่คุณจะได้รับกลับมานั้นเรียกได้ว่าแสนจะคุ้มค่าและได้แนวทางที่จะทำให้องค์กรของคุณได้เติบโตยิ่งขึ้นไป เช่น
1.ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลที่ดี
2.ส่งเสริมให้เกิดการบันทึกบัญชีและรายงานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบ
3.ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน
4.เป็นมาตรการถ่วงดุลแห่งอำนาจ ส่งเสริมให้การจัดสรรการใช้ทรัพยากรขององค์กรเป็นไปอย่างเหมาะสมตามลำดับ
5.เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าของการประพฤติไม่ชอบหรือการทุจริตในองค์กร
โดยสรุป การตรวจสอบภายในองค์กรล้วนแล้วแต่ต้องการให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หาข้อบกพร่อง ช่องโหว่ต่างๆ เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากที่สุด เพื่อที่องค์กรจะได้เดินหน้าไปด้วยประสิทธิภาพที่จะเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรของคุณ