4 ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชี เข้าใจง่าย
ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชี มีความสำคัญอย่างไร
การตรวจสอบบัญชีถือเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ตรวจสอบบัญชี (CPA) เพราะตามมาตรฐานการสอบบัญชี ฉบับที่ 200 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบบัญชีดังนี้ “การตรวจสอบงบการเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงิน ว่างบการเงินนั้นได้จัดทำในส่วนสาระสำคัญ เป็นไปตามแม่บทการบัญชีในการรายงานทางการเงินหรือไม่” ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือ การแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของกิจการโดยถูกต้องตามควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบดังนี้
4 ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชี แบบเข้าใจง่ายไม่ยุ่งยาก
ขั้นตอนที่ 1
ทางผู้ตรวจสอบบัญชีจะทำการประเมินลูกค้า ว่าธุรกิจของลูกค้าคืออะไร ค่าบริการเท่าไหร่ หากทำการตกลงเรื่องนี้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจที่มีผลต่อรายงานทางเงินขั้นพื้นฐาน ว่าประกอบด้วยความเสี่ยงอะไรบ้าง โดยขั้นตอนนี้ทางลูกค้าจะได้ทราบความเสี่ยงที่สำคัญของกิจการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ฝ่ายบริหารระวังในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น และหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ขั้นตอนที่ 2
ผู้ตรวจสอบบัญชีจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบัญชีของลูกค้า และวางแผนการตรวจสอบว่าต้องเริ่มจากอะไร โดยขั้นตอนดังกล่าว จะเป็นช่วงที่ทางผู้ตรวจสอบบัญชีจะเข้าไปทำความเข้าใจระบบบัญชีทั้งหมดของลูกค้าที่จะดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งในระยะนี้ทางผู้ตรวจสอบบัญชีจะเข้าดำเนินการทดสอบระบบการควบคุมภายในของกิจการ และถ้าหากมีข้อบกพร่องก็จะแจ้งให้กับลูกค้าทราบโดยทันที เพื่อให้ทางลูกค้านำเรื่องไปปรึกษาฝ่ายบริหารเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
ขั้นตอนที่ 3
มาถึงขั้นตอนที่ 3 ผู้ตรวจสอบบัญชีจะเข้าตรวจสอบยอดคงเหลือและรายละเอียดช่วงสิ้นงวด ขั้นตอนดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ทางผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับอนุญาตเข้าตรวจสอบข้อมูลในรายงานทางการเงิน และรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่ทางลูกค้าใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินว่าเพียงพอ และเหมาะสมหรือไม่ ขั้นตอนนี้อาจจะมีการเดินทางไปดูโรงงานการผลิตหรืออะไรที่เกี่ยวกับกิจการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงความขัดแย้งของการนำเสนอข้อมูลในรายงานทางการเงินกับมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งขั้นตอนนี้ทางลูกค้าจะทราบถึงข้อผิดพลาดในรายงานทางการเงิน แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีจะให้ทางลูกค้าแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องก่อนที่จะนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ออกไป
ขั้นตอนที่ 4
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการสรุปผลและแสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงิน ขั้นตอนดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการตรวจสอบบัญชี โดยผู้ตรวจสอบบัญชีจะประเมินหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับว่าเพียงพอและเหมาะสมมากน้อยหรือไม่อย่างไร และอาจจะแสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงินที่ตรวจสอบ ว่าควรทำการแก้ไขตรงไหน ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางลูกค้าจะได้รับรายงานจากผู้ตรวจสอบบัญชี ที่แสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงินของกิจการ พร้อมทั้งทราบถึงประเด็นทั้งหมดจากการตรวจสอบว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านผู้ตรวจสอบบัญชีก็จะทำการเซ็นรับรอง แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะส่ง
4 ขั้นตอนการตรวจสอบบัญชี ที่เราได้รวบรวมนำข้อมูลมาสรุปใจความสำคัญแบบง่ายๆ ให้คุณได้หายสงสัยกัน คราวนี้เรื่องการตรวจสอบบัญชีคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป